>> คอมพิวเตอร์กับการงานอาชีพและเทคโนโลยี

การใช้คอมพิวเตอร์ทางด้านเกษตรกรรม โดย นายศรีศักดิ์ จามรมาน และคนอื่นๆ
การใช้คอมพิวเตอร์ในด้านการเกษตรกรรมที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นการจัดทำระบบข้อมูลเพื่อการเกษตร ซึ่งอาจมีทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ สำหรับระดับนานาชาตินั้น อาจจะเริ่มด้วยสำมะโนเกษตรนานาชาติซึ่งสถาบันการเกษตรระหว่างประเทศ (International Institute of Agriculture) ได้เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๓ โดยมีประเทศต่างๆ ร่วมเก็บข้อมูลรวม ๔๖ ประเทศ ต่อมาเมื่อพ.ศ. ๒๔๙๓ องค์การอาหารและเกษตร (FAO) ก็รับงานต่อจากสถาบันการเกษตรโดยเก็บสถิติต่างๆ เช่น ขนาดที่ดิน เจ้าของที่ดิน การใช้ที่ดิน จำนวนคนและสัตว์ผลผลิตจากไร่นา ป่าไม้ และสัตว์น้ำ สำหรับ พ.ศ. ๒๔๙๓ นั้นมีประเทศและอาณาเขตร่วมโครงการด้วย ๕๒ ประเทศ และ ๕๔ อาณาเขต ข้อมูลต่างๆ ที่เก็บรวบรวมนี้ ถ้าประเทศใดมีทุนพอก็ให้เก็บทั้งหมด ประเทศใดมีทุนไม่พอก็อาจจะใช้วิธีสุ่มตัวอย่าง และวิธีอื่นๆ เมื่อรวมข้อมูลต่างๆ ได้แล้วก็จะต้องประมวลข้อมูล ซึ่งประเทศส่วนมากต้องใช้คอมพิวเตอร์ช่วย สำหรับการจัดทำสำมะโนเกษตรในประเทศไทยนั้น เดิมสำนักงานสถิติแห่งชาติได้จัดทำและใช้คอมพิวเตอร์ของสำนักงานช่วยในการประมวลผล แต่ต่อมาได้มีการพิจารณาที่จะแยกงานสำมะโนเกษตรออกมาต่างหากจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อาจจะจัดทำเอง

นอกจากจะเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์แบบสำมะโนเกษตรแล้ว ยังอาจใช้คอมพิวเตอร์ช่วยทำแบบจำลองพยากรณ์ความต้องการ พยากรณ์ผลผลิตด้านการเกษตร เช่น ถ้าจะมีความต้องการข้าวเหนียวจำนวนหนึ่ง ถ้ามีตัวเลขจำนวนพื้นที่สำหรับปลูกข้าวเหนียวและอัตราผลผลิตต่อไร่ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ มีผลการพยากรณ์อากาศ และมีข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องพร้อมอยู่ ก็จะพยากรณ์ได้ว่ามีผลผลิตเท่าใด

ถ้าเกิดปรากฏการณ์นอกสภาพที่คาดคะเนไว้เช่น เกิดโรคระบาด เกิดฝนแล้งหรือน้ำท่วม ผิดแผกแตกต่างไปจากที่พยากรณ์ไว้ ก็รับส่งข้อมูลใหม่ให้เครื่องช่วยพยากรณ์ได้ตัวเลขใหม่ออกมา ถ้าน้อยกว่าความต้องการก็หาทางป้องกันแก้ไข เช่น ห้ามส่งข้าวเหนียวที่เหลือจากปีก่อนออกนอกประเทศ ปีนี้จะได้มีบริโภคภายในประเทศอย่างเพียงพอ เป็นต้น ตัวอย่างการใช้แบบจำลองอีกอย่างหนึ่ง ที่กำลังจะใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในประเทศไทยก็คือ โครงการปลูกพืชทดแทนฝิ่นในภาคเหนือ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กเครื่องหนึ่ง

โดยความช่วยเหลือของมูลนิธิฟอร์ด เพื่อใช่ช่วยประมวลผลในโครงการดังกล่าว ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะหาพืชพันธุ์ต่างๆ ๓ ชนิดมาปลูกแทนฝิ่น ให้ชาวบ้านมีรายได้ดีเท่ากับปลูกฝิ่นถ้าไม่ใช่แบบจำลองช่วยก็อาจจะต้องทดลองทำจริง สิ้นเปลืองงบประมาณ สิ้นเปลืองเวลามากมายกว่าจะทราบผลถ้าใช้แบบจำลองช่วยก็อาจต้องปลูกจริงเฉพาะในกรณีตัวอย่างถ้าพื้นที่แบบนี้ ขนาดนี้ และฤดูนี้ปลูกพืชชนิดใด ใช้กำลังคนเท่าใด กำลังเครื่องจักรเท่าใด ใช้ปุ๋ยเท่าใด ใช้น้ำเท่าใดและจะได้ผลอย่างใด เป็นต้น